ประวัติความเป็นมาของตำบล
ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่เล่าต่อๆ กันมา จนถึงผู้เขียนตำบลทุ่งสง เมื่อก่อนเขียน “ตำบลทุ่งสรง” ตามบันทึกของนายแก้ว ถึงท่านพรานบุญ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๘ (นายแก้วคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และชื่อบ้านนามเมืองภาคใต้ (๔) นครศรีธรรมราช โดย ร.ศ. ประพันธ์ เรืองณรงค์ อธิบายว่าเอกสารโบราณภาคใต้บางฉบับ เขียน ทุ่งสง เป็น “ทุ่งสรง” สำหรับผู้เขียน สันนิษฐานว่า คำว่าทุ่งสรง น่าจะเป็นคำที่ถูกต้อง แม้แต่นายแก้ว ตามที่อ้างถึง เขียนคำว่า “ทุ่งสรง” เนื่องจากเมื่อก่อนการตั้งชื่อนามเมืองบุคคลในสมัยนั้น จะตั้งชื่อนามเมืองให้เป็นมงคลกับชุมชน เนื่องจากตำบลทุ่งสง เป็นชุมชนที่เก่าแก่มีพระคู่บ้านคู่เมือง ที่บุคคลให้ความเคารพนับถือคือพระพุทธรูป มีชื่อว่า พระขัดสมาธิ์เพชร เมื่อถึงวันประเพณีสงกรานต์ หรือบ้านเมืองเกิดภาวะแห้งแล้งประชาชนในชุมชุน และละแวกใกล้เคียง จะอาราธนาพระพุทธรูปองค์นี้ไปสรงน้ำ ที่บ่อหรั่งซึ่งเป็นบ่อน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้งไม่ว่าฤดูใดๆ อยู่กลางทุ่งนา บริเวณทำเนียบว่าการแขวงทุ่งสรงซึ่งเป็นสถานที่ราชการในสมัยนั้น ปัจจุบันยังคงมีอยู่เมื่อนำพระพุทธรูปดังกล่าวไปสรงน้ำแล้ว บุคคลในชุมชนจะอยู่เย็นเป็นสุข ฝนตกตามฤดูกาลจึงตั้งชื่อว่าทุ่งสรง
ตำบลทุ่งสรง เป็นชุมชนมีผู้อาศัยอยู่ก่อนปี พ.ศ. ๒๓๒๓ ศึกษาได้จากหลักฐานการสร้างวัดหนองดี ซึ่งอยู่ใกล้กับทำเนียบว่าการแขวงทุ่งสรง วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๓ พบเขียนไว้ที่ฐานพัทธสีมา และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๕๔ ได้แบ่งเขตการปกครองพื้นที่อำเภอทุ่งสง ออกเป็น ๔ แขวง
ตำบลทุ่งสรง ตามคำบอกเล่าที่เล่าต่อกันมามีสถานที่ราชการประจำตำบลหรือประจำแขวง ในการบริหารบ้านเมืองโดยมีทำเนียบว่าการแขวง ตั้งอยู่ที่บ้านโคกคลุ้มในปัจจุบัน มีตราสัญลักษณ์ประจำแขวงแกะสลักด้วยงาช้างเป็นรูปวงกลมภายในวงกลมเป็น รูปช้างพลายชูงวงขึ้นเหนือศีรษะ และมีตัวหนังสือเขียนว่า ทำเนียบว่าการแขวงทุ่งสรง สำหรับใช้ประทับตราในหนังสือของทางราชการจากคำบอกเล่า ของนายน้าว แท่นทอง อดีตกำนันตำบลทุ่งสง ซึ่งเป็นเหลนของขุนไกร วงศ์สวัสดิ์ กำนันคนที่ ๑ และหลานของพันศรีกรด กำนันคนที่ ๒ และเป็นลูกของนายเฟื่อง แท่นทอง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๓๙ มีการแบ่งการปกครองใหม่เป็นมณฑล เมือง อำเภอ และหมู่บ้าน ทางราชการจึงได้รวมพื้นที่ทั้ง ๔ แขวงและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอำเภอทำให้ทำเนียบว่าการแขวงทุ่งสรง ย้ายสถานที่ไปตั้งอำเภอที่ใหม่ คือที่ตั้งอำเภอทุ่งสง ในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งหรือตำบลหนึ่งของอำเภอทุ่งสง ก่อนที่จะจัดตั้งอำเภอนาบอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จากเมื่อประกาศเป็นตำบลมีกำนันปกครองจนถึงปัจจุบันนี้จำนวน ๑๑ คน คือ
๑. ขุนไกร วงศ์สวัสดิ์ (ราชทินนามเทพทอง)
๒. มันศรีกรด ชำนาญกิจ (สกุลเดิมฤทธิ์ธานนท์)
๓. ขุนกระจ่าง สรรพสุข
๔. นายหมึก รัตนพันธ์
๕. นายกล่อม ใยทอง
๖. นายเพิ่ม เวธนุสิทธ์
๗. นายเจิม สุมงคล
๘. นายน้าว แท่นทอง
๙. นายเจริญ ธนาวุฒิ
๑๐. นายนิยม สุทธิมาศ
๑๑. นายทรงศักดิ์ สุขสม (คนปัจจุบัน)